ระดับภาษา หมายถึง ความลดหลั่นของถ้อยคำ และการเรียบเรียงถ้อยคำที่ใช้ โดยพิจารณาตามโอกาสหรือกาลเทศะ เช่น ภาษาระดับพิธีการ ภาษาระดับทางการหรือภาษาราชการ ภาษาระดับกันเอง เป็นต้น
1. ภาษาระดับพิธีการ
ภาษาระดับพิธีการ เป็นภาษาที่สมบูรณ์แบบ รูปประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ มีความประณีตงดงาม อาจใช้ประโยคที่ซับซ้อน และใช้คำระดับสูง ภาษาระดับนี้ จะใช้ในโอกาสสำคัญๆ เช่น งานราชพิธี วรรณกรรมชั้นสูง เป็นต้น
2. ภาษาระดับทางการ
ภาษาระดับทางการ หรือ ภาษาทางการ/ภาษาราชการ เป็นภาษาที่สมบูรณ์แบบ รูปประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เน้นความชัดเจน ตรงประเด็น ใช้ในโอกาสสำคัญที่เป็นทางการ เช่น หนังสือราชการ วิทยานิพนธ์ รายงานทางวิชาการ การกล่าวปราศรัย การกล่าวเปิดงานสำคัญๆ เป็นต้น
3. ภาษาระดับกึ่งทางการ
ภาษาระดับนี้คล้ายกับภาษาระดับทางการ แต่ลดความเป็นการเป็นงานลงบ้าง มักใช้ในการประชุมกลุ่ม ที่เล็กกว่าการประชุมที่ต้องใช้ภาษาระดับทางการ เช่น ในการประชุมกลุ่มย่อย การบรรยายในห้องเรียน เนื้อหาข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ มักใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยมากกว่าภาษาในระดับทางการ และใช้ศัพท์เฉพาะเท่าที่จำเป็น
4. ภาษาระดับไม่เป็นทางการ
ภาษาระดับไม่เป็นทางการ เป็นภาษาที่ไม่เคร่งครัดตามแบบแผน เพื่อใช้ในการสื่อสารทั่วไปในชีวิตประจำวันหรือโอกาสทั่วๆ ไปที่ไม่เป็นทางการ ใช้ในการสนทนาระหว่างบุคคลหรือกลุ่มเล็กๆ ในสถานที่และโอกาสที่ไม่เป็นการส่วนตัว เช่น ในการเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน ภาษาที่ใช้อาจมีถ้อยคำที่เคยใช้กันเฉพาะกลุ่ม
5. ภาษาระดับกันเอง
ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปาก เป็นภาษาพูดที่ใช้สนทนากับบุคคลที่สนิทคุ้นเคย ใช้สถานที่ส่วนตัว หรือในโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครื้นเครง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาพูดที่ไม่เคร่งครัด อาจมีคำตัด คำสแลง คำด่า คำหยาบปะปน โดยทั่วไปไม่นิยมใช้ในภาษาเขียน ยกเว้นงานเขียนบางประเภท เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย ภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น